สุดยอดไอเท็มชิ้นสำคัญของนักเดินทางท่องโลกอย่างพวกเรา คงหนีไม่พ้น พาสปอร์ต เล่มกะทัดรัดที่เราต้องพกติดตัวตลอดทั้งทริปนั่นเอง หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าพาสปอร์ตนั้นไม่ได้ใช้แค่ยืนยันตัวตนระหว่างเดินทางเข้า-ออกประเทศเท่านั้น แต่มันยังมีข้อมูลสำคัญระดับลับสุดยอดที่แม้แต่เราเองยังไม่อาจรู้ได้ ฟังดูน่าตื่นเต้นจริงๆ Travel Truelife จะมาไขความลับให้คุณกันในวันนี้!
1. สีพาสปอร์ตบอกความหมาย
อย่างที่เราสังเกตกันได้ว่าชาวต่างประเทศนั้นเขาก็มีพาสปอร์ตกันหลายสีแตกต่างกันไป และมีความหมายของสีซุกซ่อนอยู่ เช่นกลุ่มประเทศแถบยุโรปนิยมใช้สีแดงเข้ม หรือสีเลือดหมู (พาสปอร์ตไทยก็ใช้สีนี้) กลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ใช้สีเขียว อันเป็นสีของศาสดา กลุ่มประเทศที่แยกตัวออกมาจากยุโรป เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียใช้สีน้ำเงินเข้ม หรือสีน้ำทะเล เป็นต้น
สำหรับพาสปอร์ตประเทศไทยเองยังมีสีอื่นแบ่งออกไปได้อีก สำหรับบ่งบอกสถานะที่แตกต่างออกไป เช่น
– สีเลือดหมู เป็นพาสปอร์ตบุคคลธรรมดาทั่วไป มีอายุ 5 ปี
– สีน้ำเงินเข้ม เป็นพาสปอร์ตของข้าราชการ ผู้ถือต้องใช้ในราชการเท่านั้น ห้ามมิให้ใช้เดินทางส่วนตัว มีอายุ 5 ปี
– สีแดงสด เป็นพาสปอร์ตนักการทูต มีอายุ 5 ปี และไม่สามารถต่ออายุได้ หากนักการทูตทำหายรัฐบาลจะมีการทำหนังสือแจ้ง “ยกเลิกใช้หนังสือเดินทาง” ไปยังประเทศอื่นๆทั่วโลก เพื่อป้องกันมิให้มีผู้ปลอมแปลงสวมสิทธิ์ และนำไปก่อเหตุร้ายได้
– สีเขียว เป็นพาสปอร์ตที่ออกให้สำหรับพระภิกษุ และสามเณรที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศตามนัยระเบียบมหาเถรสมาคม และออกให้ชาวมุสลิมที่เพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ มีอายุ 2 ปีเท่านั้น
2. พาสปอร์ตนั้นหรือคือบัตรประชาชน
สำหรับบางประเทศนั้นพาสปอร์ตมีหน้าที่เป็นเหมือนเอกสารสำหรับระบุตัวตนใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมไปถึงใช้จดทะเบียนสมรส ใช้ซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ มีการใส่ข้อมูลสำคัญ เช่น สถานะสมรส ที่อยู่อาศัย ทะเบียนการย้ายที่อยู่ ฯลฯ ถือเล่มเดียวจบ ส่วนมากพาสปอร์ตประเภทนี้จะใช้กันในกลุ่มเครือรัฐเอกราช (ประเทศที่ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต) และรัสเซีย และแน่นอนว่ามีอายุใช้งานยาวนานกว่า 5 ปีด้วย
3. แถบตัวเลขพิเศษ ตรวจสอบข้อมูลได้ละเอียดยิบ
เปิดสมุดมาหน้าที่มีรูปถ่ายของเรา ลองสังเกตุที่แถบตัวเลขทางด้านล่างจะพบว่ามีตัวเลขอะไรไม่รู้เป็นแถวยาว ซึ่งนี่แหละเป็นข้อมูลส่วนตัวของเราที่สามารถตรวจดูเองได้ด้วย ตัวเลขแต่ละหลักจะบอกเรา ดังนี้
– แถวบน ตัวอักษรแรก คือ รหัสเดียวกับเลขพาสปอร์ต (รหัส (Type) ‘P’ เป็นอักษรย่อสำหรับคำว่า “Passport”)
– แถวล่าง หมายเลขเดียวกันกับหมายเลขพาสปอร์ต
– อักษรย่อสัญชาติ (“THA” สำหรับประเทศไทย)
– วันเกิด เรียงด้วย ปี-เดือน-วัน
– เพศ
– วันหมดอายุหนังสือเดินทาง เรียงด้วย ปี-เดือน-วัน
– หมายเลขบัตรประชาชน
4. พาสปอร์ต และ วีซ่า ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
พาสปอร์ต เป็นเอกสารที่ออกให้คนสัญชาติของตนใช้เป็นเอกสารแสดงตนในการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ก่อนจะเดินทางต้องนำพาสปอร์ตไปขอวีซ่าจากสถานทูต/สถานกงสุลของประเทศที่ต้องการจะไป
แต่ วีซ่า คือ เอกสารที่แต่ละประเทศจะขอเรียกดูจากคนสัญชาติอื่น เพื่ออนุญาตให้คนสัญชาติอื่นๆ เดินทางเข้ามายังประเทศตนได้ โดยกำหนดให้ยื่นเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนว่าจะอนุญาตหรือไม่ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นบัตรผ่านเข้าประเทศ
อย่างไรก็ดีก็มีบางประเทศที่อนุญาตให้ทำวีซ่าได้ที่สนามบินเลยเมื่อเดินทางมาถึง เช่น เมื่อมายังประเทศไทย นักท่องเที่ยวจีน, อินเดีย, คาซัคสถาน, ภูฏาน ฯลฯ สามารถเดินทางมาทำวีซ่าได้ที่ด่านสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 15 วัน
ส่วนคนไทยเองสามารถใช้หนังสือเดินทางธรรมดาเดินทางโดยไม่ต้องใช้วีซ่าได้ถึง 28 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง มัลดีฟท์ ฟิลิปปินส์ ฯลฯ แต่ละประเทศก็จะมีจำนวนวันที่พำนักได้ไม่เท่ากัน อ่านเพิ่มเติมได้ใน —> 28 ประเทศที่ไม่ต้องใช้วีซ่า แค่มีหนังสือเดินทางก็เที่ยวได้สบาย
5. ไม่ทุกคนที่ต้องใช้พาสปอร์ต
อ่านมาหลายข้อจนรู้สึกว่าพาสปอร์ตนั้นสำคัญมากๆ แต่ก็มีอยู่ไม่กี่คนบนโลกนี้ที่ไม่ต้องมีพาสปอร์ต เช่น พระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเดินทาง เนื่องจากตามกฏหมายระบุให้พระราชินีอังกฤษเป็นผู้ออกหนังสือเดินทางอย่างเป็นทางการ (พูดง่ายๆ คือท่านทรงให้ยืมถือพาสปอร์ต) ทำให้เป็นบุคคลเดียวในอังกฤษที่ไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือเดินทาง
กลุ่มประเทศในบางภูมิภาคก็มีอนุญาตให้มีการใช้บัตรประชาชนแทนหนังสือเดินทาง เช่น ประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS), สหภาพยุโรปและประเทศใกล้เคียงบางประเทศ, คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) และกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง
6. หลากภาษาในเล่มเดียว
สงสัยไหมว่าทำไม่จึงไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในพาสปอร์ตไปเลย นั่นเพราะบางครั้งชื่อเรียกประเทศในภาษาท้องถิ่น กับชื่อที่คนทั่วโลกรู้จัก อาจไม่เหมือนกัน เช่น ประเทศ Albania มีชื่อราชการว่า Shqipëria (ฌิ-เปรีย) เป็นต้น และบางครั้งตัวเจ้าของพาสปอร์ตเองอาจไม่เข้าใจภาษาอังกฤษก็ได้ นั่นจึงต้องมีการกำหนดให้ในพาสปอร์ตนั้นมีภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ 1 ภาษา และภาษาสากลอีก 1 ภาษา
บางประเทศมีถึง 3 ภาษาเลย เช่น พาสปอร์ตเบลเยี่ยม มีทั้งภาษา ดัตช์, ฝรั่งเศส และเยอรมัน โดยไม่มีภาษาอังกฤษ สมัยก่อนพาสปอร์ตไทยเองก็มีแต่ภาษาฝรั่งเศส ไม่มีภาษาไทยด้วยซ้ำ
7. พาสปอร์ตบางเล่มก็เข้าบางประเทศไม่ได้
เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละประเทศ หรือจากความขัดแย้งทางสงครามทำให้บางประเทศมีการห้ามไม่ให้คนจากอีกประเทศเดินทางเข้ามาได้ เช่นพาสปอร์ตของปากีสถานไม่สามารถใช้เดินทางเข้าอิสราเอลได้ หรือประเทศอาเซอร์ไบจานก็ห้ามผู้ถือพาสปอร์ตอาร์เมเนียเข้าประเทศจากเหตุสงคราม เป็นต้น
8. เก็บมากกว่าแค่ข้อมูลส่วนตัว
นอกเหนือจากข้อมูงทั่วๆ ไปอย่างวันเกิด สัญชาติ รูปถ่าย ฯลฯ แล้ว บางประเทศอาจเก็บละเอียดกว่านั้นเพื่อป้องกันภัยระหว่างประเทศ เช่นอิสราเอลจะเก็บข้อมูลด้านชีวภาพของผู้ถือ กระทั่งความห่างระหว่างดวงตาทั้ง 2 ข้าง และโครงสร้างกระดูก
9. สิ่งละอันพันละน้อยในพาสปอร์ต
ท่ามกลางความละเอียดรอบคอบ และเอาจริงเอาจังในการจดทำพาสปอร์ตแต่ละเล่ม ยังมีเรื่องสนุกๆ ซ่อนอยู่ให้เจ้าของพาสปอร์ตได้เอาไว้อวดเพื่อนต่างชาติ เช่น ประเทศฟินแลนด์ จะมีรูปกวางมูสในเล่ม และหากกรีดหน้าหนังสือเดินทางเร็วๆ จะเห็นกวางเดินเคลื่อนที่ได้ หรือถ้าเป็นพาสปอร์ตของอเมริกา หน้าพาสปอร์ตแต่ละหน้าจะมีเล่าเรื่องประวัติศาสตร์การสร้างชาติของอเมริกันชนด้วย
travel.trueid